alt

 

“การ์โล  เธอต้องสละทุกอย่าง  ครอบครัว  การงาน  การศึกษา  เพราะเธอต้องไปบวชเป็นพระสงฆ์และตั้งคณะนักบวช” เป็นกระแสเรียกที่คุณพ่อการ์โล  เดลลา  โตร์เร  ยึดถือเป็นพันธกิจพิเศษ ที่พระเป็นเจ้ามอบไว้แก่ท่าน  ผ่านทางคุณพ่อวิญญาณรักษ์ (อนุสรณ์แห่งความรักที่พ่อมอบให้แก่ลูก  หน้า 75)     คุณพ่อการ์โลได้เดินทางมาเป็นมิชชันนารีที่เมืองไทย  บวชเป็นพระสงฆ์ในคณะซาเลเซียน  คุณพ่อได้พยายามตั้งคณะนักบวชท้องถิ่นขึ้นคณะหนึ่ง  ในสังฆมณฑลราชบุรี  แต่เมื่อสถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวย  คุณพ่อจึงย้ายเข้าสังกัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  เพื่อกระทำให้กระแสเรียกดังกล่าวสำเร็จไป


คุณพ่อการ์โล ได้เรียบเรียงธรรมนูญฉบับที่ 1 ขึ้นเพื่อขอการรับรองคณะจากสมณกระทรวงฯ กรุงโรม  ซึ่งคณะได้รับการรับรองในชื่อว่า  “คณะธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล” เป็นสถาบันฆราวาสผู้ถวายตน(Secular Institute) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1954  อย่างไรก็ดี  คุณพ่อได้เริ่มต้นวางแนวทางและรูปแบบชีวิตคณะ  รวมทั้งการอบรมสมาชิกไปในทิศทางที่มีแนวโน้มไปสู่การเป็นนักบวช (Religious Institute)ยิ่งทียิ่งมากขึ้น  ซึ่งสมาชิกได้ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คุณพ่อริเริ่มไว้ตั้งแต่แรกเริ่มคณะจนถึงปัจจุบัน (CIC 578)


ปี ค.ศ. 1973  คุณพ่อการ์โล  เริ่มป่วย คุณพ่อจึงได้ขอพระสงฆ์จากคณะซาเลเซียนมาช่วยเหลือด้านชีวิตจิตและการอบรมชีวิตนักบวชแก่สมาชิก (จดหมายจากเจ้าคณะซาเลเซียน ลงวันที่ 10 สิงหาคม  ค.ศ. 1973) นอกจากนั้นในปี  ค.ศ. 1974  คุณพ่อได้ส่งสมาชิก 2 คน  ไปรับการอบรมชีวิตนักบวชจากคณะซิสเตอร์ซาเลเซียน ที่กรุงตุริน ประเทศอิตาลี เพื่อกลับมาเป็นผู้อบรมของคณะ (จดหมายจากคุณแม่เจ้าคณะ   คณะซิสเตอร์ซาเลเซียน ลงวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1974) และในขณะเดียวกันนั้นเอง  คุณพ่อการ์โล  ได้ขอให้พระสังฆราชประพนธ์   ชัยเจริญ   ซึ่งเป็นคุณพ่อเจ้าคณะซาเลเซียนในสมัยนั้นได้ช่วยปรับปรุงแก้ไขพระวินัยขึ้นใหม่ เป็นฉบับที่ 2 (ค.ศ. 1982) เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการเจริญชีวิตจริงของสมาชิก ซึ่งมีรูปแบบชีวิตนักบวชค่อนข้างชัดเจน  คุณพ่อการ์โล ได้พิจารณาแล้วท่านแสดงความพอใจ ดังที่มีระบุอยู่ในจดหมายฉบับลงวันที่  29 พฤศจิกายน  ค.ศ. 1980  ที่ท่านเขียนถึงลูกๆ ของท่าน


แม้ในเวลาต่อมาภายหลังการตายของคุณพ่อ (4 เมษายน ค.ศ. 1982) ปี ค.ศ. 1986 คณะได้จัดสมัชชาครั้งแรกเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระวินัยเป็นฉบับที่ 3 (ค.ศ. 1986) สมาชิกของคณะยังคงจัดรูปแบบชีวิตเป็นนักบวชยิ่งทียิ่งชัดเจนขึ้น อาทิ การอบรมที่กระทำในหมู่คณะ ชีวิตฉันพี่น้องที่ดำเนินร่วมกัน ความยากจนที่ปฏิบัติแบบหมู่คณะ โดยถือทุกสิ่งเป็นของกลาง มีการแพร่ธรรมร่วมกัน มีการเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรแบบสาธารณะ แต่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับสถานภาพฆราวาสผู้ถวายตน (Secular  Institute) ของคณะ คงเนื่องจากว่า พระศาสนจักรเองในขณะนั้นยังไม่ได้กำหนดรูปแบบชีวิตฆราวาสผู้ถวายตน  (Secular  Institute)  และนักบวช (Religious  Institute)  ให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน จนกระทั่งกฎหมายพระศาสนจักรฉบับปัจจุบัน (ค.ศ. 1983) ประกาศใช้ (เทียบ Prot. n. I. s. 5621/04  Vatican, 13 July)


จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 เมื่อพระศาสนจักรเรียกร้องให้คณะและสถาบันต่างๆ คืนกลับสู่จุดกำเนิด (Back to the root) จึงเป็นโอกาสให้คณะธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล ได้เริ่มกระบวนการไตร่ตรองศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของคณะอย่างรอบคอบทั้งส่วนตัวและส่วนรวมอย่างจริงจัง  รวมทั้งได้ขอความช่วยเหลือจากพระศาสนจักรสากล และพระศาสนจักรท้องถิ่น  เพื่อแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับสถานภาพชีวิตที่ปฏิญาณตนแล้วของสมาชิก  การศึกษาดังกล่าวปรากฏผลเป็นความแตกต่าง 2 กลุ่ม   กลุ่มหนึ่งยืนยันการเป็นฆราวาสผู้ถวายตน (Secular Institute) และอีกกลุ่มหนึ่งยืนยันการเป็นนักบวช (Religious  Institute)


ดังนั้นในวันที่ 1-5 เมษายน ค.ศ. 2008 สมาชิกทั้งหมดจึงได้จัดสมัชชาวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาของคณะ และได้มีมติเอกฉันท์ให้สมาชิกแต่ละคนสามารถดำเนินชีวิตตามเสียงเรียกร้องของมโนธรรมของตน  เพื่อแต่ละรูปแบบชีวิตจะได้มีสถาบันรองรับ  และสามารถนำพระพรขององค์พระจิตเจ้าที่คุณพ่อการ์โล  เดลลา โตร์เร ได้รับมาสานต่อ เพื่อรับใช้พระศาสนจักรตามธรรมชาติของแต่ละสถานภาพชีวิต (มติสมัชชาวิสามัญของคณะธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล  วันที่  1 – 5 เมษายน  ค.ศ. 2008  ณ  บ้านธารพระพร  สามพราน  นครปฐม) คณะภคินีธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมลจึงได้ขอการรับรองเป็นคณะนักบวชอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ชีวิตที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่แรกเริ่มในรูปแบบชีวิตนักบวช (Religious  Institute) ได้รับการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งจากพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรท้องถิ่น


หลังจากที่คณะฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระวินัยและระเบียบปฏิบัติของคณะฯ ตามคำแนะนำของสมณกระทรวงฯ แล้ว  สมณกระทรวงได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อคณะฯ จาก “The Congregation of the Sisters, Daughters of the Queenship of Mary” ชื่อภาษาไทยคือ “คณะภคินีธิดาพระราชินีมาเรียผู้นิรมล”  เป็น “The  Sisters of  the  Queenship  of  Mary” ชื่อภาษาไทยคือ “คณะภคินีพระราชินีมาเรีย” เนื่องจากชื่อคณะฯ มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับ Secular  Institute ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (สำเนา e-mail จาก Sr. Mary  Wright ถึง Sr. Theodore) คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับชื่อตามข้อเสนอของสมณกระทรวงฯ (บันทึกการประชุมคณะฯ ครั้งที่ 27 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2010)


คณะฯ ได้รับกฤษฎีกา (Decree) จากสมณกระทรวงฯ รับรอง  The Sisters of the Queenship of Mary เป็นสถาบันนักบวชสิทธิสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (เทียบ Prot. n. I.s. 5621/04, Prot. n. DD 2782-1/2008  Vatican City, 11 January 2011 ลงนามโดย  Joseph  W. Tobin  C.Ss.R. Archbishop  Secretary)